logofacebook

logointranet

complain

plan

logointranet

ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center, OSCC) หรือ “ศูนย์พึ่งได้”

วิสัยทัศน์ เป็นหน่วยงานให้บริการที่มีคุณภาพ

พันธกิจ  :จัดบริการช่วยเหลือเด็ก สตรี  และครอบครัว ที่ถูกกระทำรุนแรง แบบองค์รวมอย่างมีคุณภาพ

           : สร้างเครือข่ายการทำงานที่เป็นทีมสหวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล เพื่อการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ต่อเด็กและสตรี  อย่างมีประสิทธิภาพ

           : เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความรุนแรงของเด็ก  สตรี และครอบครัว

 

เป็นศูนย์ที่จัดขึ้นในโรงพยาบาล ทำหน้าที่บริการช่วยเหลือเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรง

บทบาทหน้าที่ของศูนย์พึ่งได้
1. คัดกรองและช่วยเหลือเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัวที่ได้รับความรุนแรง
2. เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุกรณีเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรง
3. เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล

การให้บริการของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลระนอง
1. ให้บริการทางการแพทย์ ตรวจรักษาพยาบาล
2. ให้คำปรึกษา/แนะนำ ทางด้านจิตใจ ครอบครัว และสังคม
3. การช่วยเหลือทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม
4. ประสานการส่งต่อกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
5. ให้การดูแลที่ต่อเนื่อง

กระทำรุนแรง หมายถึง การทำให้คนได้รับอันตรายหรือเสี่ยงต่ออันตรายทั้งทางร่างกาย จิตใจ พัฒนาการ สังคม สิทธิเสรีภาพ ที่เกิดได้ต่อเด็กสตรีและครอบครัว รวมทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ไม่ว่าที่ส่วนตัวหรือที่สาธารณะ (แนวปฎิบัติเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงในเครือข่ายระดับจังหวัด : สิงหาคม 2550 , น. 11)

การกระทำรุนแรง แบ่งออกได้ดังนี้ (แนวปฎิบัติเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีและบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรง : กันยายน 2552 , น. 9-10)
1. ทางร่างกาย (Physical) หมายถึง การใช้กำลังหรืออุปกรณ์ใดๆ เป็นอาวุธ ทำร้ายร่างกายเกินกว่าเหตุ มีผลทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต
2. ทางเพศ (Sexual) หมายถึง การกระทำที่มีผลทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียหาย เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ได้แก่ การข่มขืนกระทำชำเรา และอนาจาร เป็นต้น
3. ทางจิตใจ (Psychological) หมายถึง การกระทำใดๆ ที่มีผลให้ผู้ถูกกระทำได้รับความ
กระทบกระเทือนด้านจิตใจ หรือเสียสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ การดูถูกเหยียดหยาม ดุด่า กักขังหน่วงเหนียว เป็นต้น
4. การทอดทิ้ง (Deprivation or Neglect) หมายถึง การทอดทิ้งผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีจิตฟั่นเฟือน เป็นต้น
การปล่อยปละละเลยและทอดทิ้งเด็ก หมายถึง การกระทำของผู้ดูแลเด็ก ที่มีความบกพร่องในการดูแลเอาใจใส่จัดหาสิ่งที่จำเป็นต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็ก เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เสื้อผ้า สุขอนามัย การศึกษา และความปลอดภัย รวมทั้งการอบรมสั่งสอน การให้ความรักความเอาใจใส่มีผลให้เด็กได้รับอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
5. ล่อลวง/บังคับแสวงหาผลประโยชน์ การใช้ผู้หญิงในกิจกรรมซึ่งสนองประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ด้านการเงิน ด้านเพศ หรือด้านอำนาจทางการเมือง โดยกิจกรรมซึ่งบั่นทอนความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกายและจิตใจผู้หญิง และร้ายแรงถึงขั้นคุกคามต่อความอยู่รอดของผู้หญิงด้วยกิจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การใช้แรงงาน การค้าประเวณี การผลิตสื่อลามกที่เกี่ยวกับผู้หญิง

การทารุณกรรมทางเพศในเด็ก หมายถึง กระทำการใดๆ ให้เด็กมีกิจกรรมทางเพศ
หรือไปเกี่ยวข้องกับทางเพศ โดยก่อให้เกิดพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ หรือมีพัฒนาการทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับวุฒิภาวะของเด็ก และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย จารีตประเพณี วัฒนธรรม หรือศีลธรรม นอกจากการแบ่งประเภทตามรูปแบบความรุนแรงแล้วยังสามารถแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายได้ ดังนี้
- ความรุนแรงต่อเด็ก หมายถึง การกระทำหรือการละเว้นการกระทำ (โดยเจตนา) ด้วย
ประการใดๆ จนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ
การกระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะ
เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะ
ยินยอมหรือไม่ก็ตาม (พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546)
- ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งเป็นผล
หรืออาจจะเป็นผลให้เกิดการทำร้ายทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจ เป็นผลให้เกิด
ความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะ
และในชีวิตส่วนตัว (ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี 2536 : 2 จากที่
ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536)
- ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ ให้เกิดอันตรายแก่
ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือการกระทำโดยเจตนาในลักษณะอันตรายแก่ร่างกาย
จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลอง
ธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำ ไม่กระทำหรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
โดยมิชอบแต่ไม่รวมการกระทำโดยประมาท (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงใน
ครอบครัว พ.ศ. 2550)

โรงพยาบาลในจังหวัดระนองที่เข้าร่วมโครงการศูนย์พึ่งได้
โรงพยาบาลกะเปอร์
โรงพยาบาลกระบุรี
โรงพยาบาลละอุ่น
โรงพยาบาลสุขสำราญ

25 พฤศจิกายน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรี”

ที่มา
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีเพื่อรำลึกถึงผู้หญิงชาวโดมินิแกน 3 คนที่ถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการเมื่อ พ.ศ.2503
ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดเพื่อแสดงถึงการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยริเริ่มครั้งแรกในประเทศแคนนาดา ในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) โดยกลุ่มผู้ชายอาสาสมัครจำนวนประมาณ 1,000,000 คน
ที่มองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เริ่มจากวันที่ 25 พฤศจิกายน


ความรุนแรงในครอบครัว มิใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของสังคม

 

Bottom