ผลงานของชมรมคนรู้รักสุขภาพ

เครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนกลุ่มโรคเรื้อรัง จังหวัดระนอง
นำเสนอนวัตกรรม
เรื่อง ชมรมคนรู้รักสุขภาพ โรงพยาบาลระนอง
เครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนกลุ่มโรคเรื้อรัง

เส้นทางพัฒนาการของนวัตกรรม
     ปัญหาสุขภาพกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากทะเบียนผู้มารับบริการในคลินิกเบาหวาน คลินิกความดัน โรงพยาบาลระนอง รวมทั้งการรับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้ปัญหาโรคเรื้อรังเป็นทั้งปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ ระดับภาค และเป็นปัญหาพื้นที่ของจังหวัดระนอง
     สาเหตุของปัญหาสุขภาพดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ จากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ของบุคคล ครอบครัว และชุมชน ซึ่งต้องดำเนินการทุกมิติ ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ นั่นก็คือ การจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้กับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มโรค เริ่มต้น ดังนี้
     1. พื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มโรคความดัน - เบาหวาน
     2. จัดโปรแกรมสุขภาพ “รู้ทันความดัน – เบาหวาน” ประกอบด้วย
          - ส่งเสริมการเรียนรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคความดัน – เบาหวาน
          - สร้างทักษะการเลือกรับประทานอาหาร
          - สร้างเสริมการออกกำลังกายด้วยตาราง 9 ช่องเพื่อสุขภาพ
          - ผู้เข้าร่วมโปรแกรมสามารถจัดการสุขภาพตนเองได้
     3. สมาชิกกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มโรค จำนวน 60 คน ที่เข้าร่วมโปรแกรมสุขภาพร่วมก่อตั้งชมรมคนรู้ทันความดัน – เบาหวาน โรงพยาบาลระนอง
     4. รับสมัครสมาชิกทุกกลุ่มอายุ ทั้งกลุ่มเสี่ยง กลุ่มโรค และผู้สนใจดูแลสุขภาพ
     5. ดำเนินกิจกรรมชมรมฯ ตั้งแต่ ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 733 คน

กระบวนการ/วิธีการ
     1. เมื่อมีชมรมฯ ครั้งแรก จัดการประชุม 3 เดือน/ครั้ง เป็น 2 เดือน/ครั้ง และตั้งแต่ปี 2556 ประชุมเดือนละครั้ง เสริมความรู้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์สุขภาพ
     2. สมาชิกชมรมฯ เกิดแนวคิด การจัดงานเลี้ยงน้ำชา การกุศล เนื่องในวันเบาหวานโลก ครั้งแรก ปี 2552 เพื่อนำเงินเป็นกองทุนดำเนินกิจกรรมของชมรมฯ
     3. จัดทำระเบียบข้อบังคับของชมรมคนรู้ทันความดัน – เบาหวาน โรงพยาบาลระนอง ปี2553 และวางเป้าหมายของชมรมฯ ดังนี้

เป้าหมาย
     1. เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพตนเอง ด้วยความสมัครใจตั้งแต่ร่วมจ่ายค่าบำรุงชมรมฯ เสื้อประจำชมรมฯ การศึกษาดูงาน สมทบทุนในงานเลี้ยงน้ำชาการกุศล
     2. เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมวิเคราะห์สุขภาพตนเองและสามารถป้องกันและควบคุมโรคความดัน – เบาหวาน ได้อย่างเหมาะสม
     3. เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้านความรู้ เพิ่มทักษะ และส่งเสริมปัจจัยแวดล้อม สำหรับสหปัจจัย (ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส.) ที่มีผลต่อโรคความดัน – เบาหวาน
     4. เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนของตนเอง เพื่อประโยชน์ด้านสวัสดิการของสมาชิก อาทิ เยี่ยมไข้ ฌาปนกิจ เยี่ยมบ้านผู้ด้อยโอกาส รางวัลพิเศษสำหรับผู้สุขภาพดี
     5. เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมจิตอาสาเพื่อนช่วยเพื่อน ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มโรคความดัน – เบาหวาน ที่มารับบริการในโรงพยาบาลระนองและในชุมชน

การเปลี่ยนแปลง
     1. ด้านกระบวนการ (Process) มีเครือข่ายสุขภาพเป็นจุดเชื่อมโยงจากพฤติกรรมปฏิบัติตามแผนการรักษาไปยังพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเอง
          1.1 ตัวชี้วัดความพร้อมและความสนใจการจัดการสุขภาพตนเองของกลุ่มเป้าหมาย 
          - สมาชิกชมรมทั้งหมด (ที่วิเคราะห์ข้อมูลได้) 417 คน จาก 7 สาขา ส่วนใหญ่เพศหญิง จำนวน 360 คน คิดเป็นร้อยละ 80.3 รับสมัครทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 36 – 65 ปี จำนวน 255 คน ร้อยละ 61.2 โดยที่กลุ่มสูงอายุ ตั้งแต่65 ปีขึ้นไป จำนวน 162 คน คิดเป็นร้อยละ 38.8 
          - สมาชิกชมรมฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรค จำนวน 254 คน คิดเป็นร้อยละ 60.9 แยกโรคตามลำดับ คือ โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 115 คน ร้อยละ 45.3 โรคเบาหวาน จำนวน 98 คน ร้อยละ 38.6 และเป็นทั้ง 2 โรค จำนวน 41 คน ร้อยละ 16.1 โดยที่มีสมาชิกกลุ่มเสี่ยง ที่ไม่มีโรคประจำตัว จำนวน 163 คน คิดเป็นร้อยละ 39.1 

          1.2 ตัวชี้วัดกลวิธีและกิจกรรมการเรียนรู้เสริมพลังและสร้างแรงจูงใจ
          - ถ่ายทอดความรู้ 3 อ. 2 ส. และโรคทีเกี่ยวข้องเพิ่มทักษะการออกกำลังกายแลกเปลี่ยนประสบการณ์สุขภาพและนันทนาการ จำนวน 12 ครั้ง
          - จิตอาสาแนะนำออกกำลังกาย จำนวน 8 ครั้ง
          - ทัศนศึกษาต่างจังหวัด จำนวน 2 ครั้ง
          - ร่วมประเพณี (ทอดผ้าป่า , สงกรานต์) จำนวน 2 ครั้ง
          - เยี่ยมไข้ เสริมความรู้ สร้างพลังใจ จำนวน 13 ราย ฌาปนกิจสงเคราะห์ 3 ราย
          - จัดงานเลี้ยงน้ำชาการกุศล จำนวน 2 ครั้ง ได้รับทุน 180,000 บาท
          - มอบของขวัญความสนใจดูแลสุขภาพ จำนวน 120 คน
          - ชมรมฯ จัดเลี้ยงอาหารสุขภาพกลางวัน จำนวน 12 ครั้ง
     2. ด้านผลลัพธ์ (Outcome) วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสมุดบันทึกสุขภาพของสมาชิกในผู้ที่มาประชุมชมรมฯ ประจำเดือนมกราคม 2557 และการดำเนินกิจกรรมในรอบ 2 ปี (ม.ค. 2555 – ม.ค. 2557) 12 ครั้ง จำนวน 126 คน  สภาวะสุขภาพ กลุ่มโรค 57 คน คิดเป็นร้อยละ 45.2 กลุ่มโรคแบ่งเป็น โรคความดันสูง 39 คนคิดเป็นร้อยละ 68.5 โรคเบาหวาน-ความดัน 11 คนคิดเป็นร้อยละ 19.3 โรคเบาหวาน 7 คนคิดเป็นร้อยละ 12.2 กลุ่มโรค 18 คน น้ำตาลในเลือดลดลงจำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 27.8 กลุ่มเสี่ยง 69 คน คิดเป็นร้อยละ 54.8 กลุ่มเสี่ยงทุกคนไม่เกิดโรครายใหม่

บทเรียนที่ได้รับ/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
     1. การจัดการสุขภาพตนเองที่สำคัญส่วนหนึ่งของสมาชิก คือ สวัสดิการที่ได้รับนอกเหนือจากภาครัฐ เช่น การเยี่ยมไข้ ฌาปนกิจสงเคราะห์
     2. การได้รับการยอมรับ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม สร้างบทบาทของสมาชิก ทำให้สมาชิกสนใจเข้าร่วมประชุม คือ ความสำคัญของการเสริมพลังและสร้างแรงจูงใจ
     3. การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคเป็นพลวัต (Dynamic) ต้องบริหารจัดการอย่างมีแผนกระบวนการตามปัจจัยแวดล้อม และสถานการณ์ กำหนดความถี่ของกิจกรรมอย่างเหมาะสม

การต่อยอดและขยายผล
     - พัฒนาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพียงพอ เหมาะสม ด้วยการเสริมสร้างทักษะการออกกำลังกายและการปลูกผัก – กินผัก ในแต่ละสาขา โดยใช้แนวคิดการตลาดเชิงสังคมแบบขายตรง
     - พัฒนาแกนนำอาสารู้ทันความดัน-เบาหวาน เพื่อเผยแพร่ความรู้การดูแลสุขภาพดำเนินกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนเสริมความรู้สร้างกำลังใจ

ความภาคภูมิใจ
     - ได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรม 2 กิจกรรม
     - ชมรมคนรู้ทันความดัน – เบาหวาน โรงพยาบาลระนอง ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานเด่นของเครือข่ายโรคเรื้อรัง จังหวัดระนอง ในงาน “เวทีสานพลังเครือข่าย : คนใต้ตอนบนกับการสร้างพลังสุขภาพ” ครั้งที่ 2 วันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2555 จัดโดย สปสช. เขต 11
     - ได้รับโล่เกียรติคุณ องค์กรที่จัดกิจกรรมนันทนาการดีเด่น ทำคุณประโยชน์แก่สังคมของกรม พลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2556

Bottom